มือใหม่หัดวิเคราะห์งบ จาก 4 ค่าใช้จ่าย ในงบกำไรขาดทุน

มือใหม่หัดวิเคราะห์งบ จาก 4 ค่าใช้จ่าย ในงบกำไรขาดทุน

งบการเงิน แค่ได้ยินชื่อก็ดูจะเป็นเรื่องน่าปวดหัวสำหรับนักลงทุนมือใหม่ ที่แม้อยากจะทำความรู้จักหุ้นหรือบริษัทที่เราสนใจจะลงทุนเบื้องต้น แต่กลับต้องล้มเลิกเพราะเชื่อว่ามันยากเกินทำความเข้าใจ

ซึ่งจากประสบการณ์ของผม นอกจากการฟังเรื่องราวธุรกิจหรือศึกษาจากการตามอ่านข่าวหุ้นที่เราสนใจแล้ว งบการเงิน ถือเป็นอีกหนึ่งภาษาธุรกิจ ที่นักลงทุนควรทำความเข้าใจ เพราะสามารถสะท้อนถึงกลยุทธ์ การบริหาร ตลอดจนคำพูดของผู้บริหารได้อย่างชัดเจน (ถ้าเราดูเป็น)

โพสนี้จึงจะมาขอเริ่มด้วยงบกำไรขาดทุน (Income Statement) ที่บอกถึง รายได้ ค่าใช้จ่าย และกำไร ที่เป็นอีกหนึ่งงบ ที่นักลงทุนจะต้องเจอกับมันบ่อย ๆ และยิ่งช่วงนี้ที่เป็นช่วงการปิดงบประจำปีของแต่ละบริษัทด้วยแล้ว สิ่งที่เรามักได้ยินก็จะเป็นในเรื่องของ รายได้ และกำไร เติบโตหรือลดลง เท่านั้นเท่านี้

แต่แท้จริงแล้วตัวที่สะท้อนการดำเนินงานที่แท้จริง นั่นคือในเรื่องค่าใช้จ่ายของบริษัท เพราะยิ่งเราคุมหรือจัดการค่าใช้จ่ายได้ดีเท่าไหร่ ความสามารถในการทำกำไรก็จะเพิ่มขึ้นได้โดยทันที

แล้วรายได้ล่ะ รายได้เพิ่ม ๆ ก็ย่อมดีไม่ใช่หรอ ?

ใช่ครับยังไงรายได้เพิ่มขึ้น ก็ย่อมดีแน่นอน แต่หลายธุรกิจมุ่งเน้นเติบโตโดยการเพิ่มรายได้ แต่ค่าใช้จ่ายกลับเพิ่มเป็นเงาตามตัว จนทำให้ความสามารถในการทำกำไรลดลง บางที่ถึงขั้นขาดทุนไปเลยก็มี แล้วแบบนี้มันจะดีจริงหรือครับ

ผมจึงได้จัดแบ่งค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุนออกมาเป็น 4 จุดที่เราต้องใส่ใจ ดังนี้

1⃣ ต้นทุนขาย (Cost of Goods Sold/Cost of Sales)

ค่าใช้จ่ายที่ได้มาของสินค้า เช่น หากบริษัทผลิตสินค้า ต้นทุนขายจะประกอบด้วย ต้นทุนวัตถุดิบ ค่าแรง ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เป็นต้น

โดยถ้าบริษัทไหนสามารถลดสัดส่วนต้นทุนขายต่อรายได้ลงอย่างต่อเนื่อง บ่งบอกถึงบริษัทมี Competitive Advantage (ต้นทุนต่ำ, ความแตกต่าง, เฉพาะกลุ่ม) อย่างน้อยหนึ่งอย่าง ทำให้เกิดอำนาจต่อรองกับลูกค้าสูง

และเมื่อหักต้นทุนขายออกไปแล้ว ก็จะเหลือเป็นกำไรขั้นต้น (Gross Margin) ยิ่งบริษัทลดสัดส่วนต้นทุนขายต่อรายได้ลงได้มากเท่าไหร่ จะทำให้ความสามารถในการทำกำไร ในส่วนอัตรากำไรขั้นต้นปรับสูงขึ้นทันที

2⃣ ค่าใช้จ่ายขายและบริหาร (Selling, General & Administrative Expense : SGA)

ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการขายและการบริหาร เช่น เงินเดือนพนักงาน ผู้บริหาร ค่าเช่า ค่าโฆษณาและประชาสัมพันธ์ ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าดำเนินการต่าง ๆ เป็นต้น (ไม่รวมในสายการผลิตเพราะถูกคิดในต้นทุนขายแล้ว)

โดยถ้าบริษัทไหนสามารถลดสัดส่วน คชจ.ขายและบริหารต่อรายได้ลงอย่างต่อเนื่อง บ่งบอกถึงบริษัทมีแบรนด์ที่แข็งแกร่ง (เป็นผู้นำในตลาด)

และเมื่อหักค่าใช้จ่ายขายและบริหาร จะเหลือเป็น กำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษี (EBIT : Earning Before Interest and Tax) ยิ่งบริษัทลดสัดส่วนค่าใช้จ่ายขายและบริหารได้มากเท่าไหร่ ก็จะไปสะท้อนในความสามารถในการทำกำไร ในส่วนอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษี จะปรับสูงขึ้นทันที

3⃣ ดอกเบี้ยจ่าย (Interest Expenses)

ค่าใช้จ่ายทางการเงิน (ต้นทุนทางการเงิน) ที่เกิดจากการที่บริษัทไปกู้หนี้ยืมสินมา
โดยถ้าบริษัทไหนสามารถลดสัดส่วนหรือคงให้อยู่ในระดับต่ำ (ไม่มีเลยจะดีมาก) จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันระยะยาว เพราะถ้าสูง แสดงว่าเป็นบริษัทที่ต้องใช้เงินทุนมหาศาล เพื่อเพิ่มรายได้ ทำให้ต้องกู้ธนาคารมาลงทุนมาก

ซึ่งเมื่อหักดอกเบี้ยจ่ายออกไปแล้วจะเหลือเป็นกำไรก่อนภาษี (EBT : Earning Before Tax)

4⃣ ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Tax)

โดยการคำนวนภาษี ปกติคิดที่อัตรา 20% จากกำไรก่อนภาษี (EBT) ซึ่งถ้าบริษัทมีสัดส่วนต่ำกว่าปกติเมือเทียบกับอดีตที่ผ่านมา แปลว่า อาจได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติม

ซึ่งเมื่่อหักภาษีเงินได้ออกไปแล้ว จะเหลือเป็นกำไรสุดท้าย คือ กำไรสุทธิ (Net Profit)

📌 ซึ่งค่าใช้จ่ายที่สำคัญของบริษัทจะอยู่ในจุดที่ 1 และ 2 เป็นหลัก จะบ่งบอกถึงกลยุทธ์ธุรกิจและสะท้อนภาพดำเนินงานได้อย่างชัดเจน

เช่น ตัวอย่างจากในภาพบริษัทมีรายได้ 100 บาท หักรายจ่ายทั้ง 4 จุด ดังนี้

ต้นทุนขาย 50 บาท (เป็นกำไรขั้นต้น 50 บาท)

คชจ.ขายและบริหาร 20 บาท (เหลือเป็นกำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษี 30 บาท)

ดอกเบี้ยจ่าย 10 บาท (เหลือเป็นกำไรก่อนภาษี 20 บาท)

ภาษี 4 บาท (เหลือเป็นกำไรสุทธ 16 บาท)

🕵‍♂ การเปรียบเทียบ

ในส่วนการเปรียบเทียบสัดส่วนค่าใช้จ่ายต่อยอดขายทั้ง 4 จุด มี 3 สิ่งที่ต้องพิจารณา คือ

1. เปรียบเทียบงบย้อนหลัง 3-5 ปี

2. เปรียบเทียบกับบริษัทที่อยู่ในธุรกิจหรือเซกเมนต์เดียวกัน

3. แต่ละธุรกิจจะมีสัดส่วน ค่าใช้จ่ายทั้ง 4 จุดแตกต่างกัน ฉะนั้น ธุรกิจ A ที่มีต้นทุนขายต่ำ ๆ ไม่ได้แปลดีกว่า ธุรกิจ B ที่มีต้นทุนขายสูงกว่า

📣 สุดท้ายอยากจจะฝากไว้ แม้เรื่องการเงินจะดูเป็นเรื่องยาก แต่เชื่อเถอะว่ามันไม่ยากเกินที่เราจะทำความเข้าใจ และที่สำคัญยิ่งมีผลต่อเงินของเราเองด้วยแล้ว ลองให้เวลาศึกษาและเรียนรู้ไป คุณจะรู้สึกสนุกกับการลงทุนแน่นอน 👍👍👍

❗หมายเหตุ

1. งบกำไรขาดทุน ในความเป็นจริงจะมีรายการย่อยอื่น ๆ อีก เช่น รายได้อื่น ๆ กำไรอื่น ๆ ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจหลักโดยตรง ซึ่งอาจส่งผลให้อัตราค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไป ฉะนั้น นักลงทุนจำเป็นที่จะต้องลงไปตรวจสอบลงลึกในรายละเอียดด้วย

2. การวิเคราะห์งบและการอธิบายในโพสนี้ เกิดจากการศึกษาและประสบการณ์ส่วนตัวจากการวิเคราะห์หุ้นที่แอดได้ใช้ในการลงทุน จึงอาจจะไม่ตรงตามทฤษฎีเป๊ะ (แต่รับรองว่าใช้งานได้จริง)



สนใจข้อมูลธุรกิจ การเงิน การลงทุน เล่าให้ฟังเข้าใจง่ายๆ พร้อมทั้งแรงบันดาลใจดีๆ ในการสร้างฝัน ติดตาม iYom Biz+Inspiration ได้ที่
website : https://iyom-bizinspiration.com
facebook : https://www.facebook.com/iYomBizInspiration

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *