เงิน 100 บาท เลือกลงทุนอย่างไรดี ?

เงิน 100 บาท เลือกลงทุนอย่างไรดี ?

ปัญหาอย่างหนึ่งของคนที่อยากลงทุนในหุ้น คือ ไม่รู้ว่าจะต้องลงทุนอย่างไรดี ? กล้า ๆ กลัว ๆ จนไม่ได้ลงทุน ที่จริงการที่เรายังกลัวและกังวลกับการลงทุนในหุ้น เพราะเราไม่ได้ถอยออกมามองภาพรวมของการลงทุนทั้งหมด ที่เราควรมีในพอร์ตการลงทุน เพราะการลงทุนไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นการซื้อหุ้นอย่างเดียวเท่านั้น แต่เราต้องรู้จักกระจายความเสี่ยงไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่น ๆ

ซึ่งสำหรับการลงทุนหลัก ๆ ของบุคคลทั่วไปก็จะมี หุ้น พันธบัตร และเงินสด (สำหรับใครที่อยากหาการลงทุนในสินทรัพย์อื่น เพิ่มเติม ลองไปดูได้ใน 9 การลงทุนที่ดีที่สุด ในช่วงตลาดผันผวน > )

วันนี้จึงมาชวนกันคิดว่า ถ้าคุณมีเงิน 100 บาท ควรจะเลือกลงทุนอย่างไรดี และแน่นอนทั้ง 5 รูปแบบการลงทุนที่ทำมานั้น ขึ้นอยู่ เป้าหมาย อายุ และการยอมรับความเสี่ยงของคุณด้วย แต่ก่อนอื่นสำหรับมือใหม่จริง ผมอยากขออธิบายสินทรัพย์แต่ละประเภทอย่างคร่าว ๆ ก่อน ใครรู้แล้วจะข้ามไปเลยก็ได้ครับ

📌 หุ้น

หุ้น หรือ ตราสารทุน เป็นสิ่งที่บริษัทออกมาเพื่อระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อคุณซื้อหุ้นในบริษัทที่คุณกำลังลงทุน สิ่งที่คุณจะได้รับตอบแทนมีสองอย่าง คือ ส่วนต่างของราคาหุ้น (Capital Gain) และเงินปันผล (Dividend Yield) แต่โดยทั่วไป เป้าหมายของเราส่วนใหญ่ คือ การได้ส่วนต่างของราคา หรือ “ซื้อต่ำและขายสูง”

นอกจากนี้ คุณยังสามารถซื้อกองทุนรวม กองทุนดัชนีหรือกองทุน ETF ทั้งในและต่างประเทศ โดยทั้งหุ้นรายตัว กองทุนรวม กองทุนดัชนีและกองทุน ETF มีโอกาสได้ผลตอบแทนค่อนข้างสูง แต่ก็มีความเสี่ยงค่อนข้างสูงเช่นเดียวกัน

📌 พันธบัตร

เมื่อคุณซื้อหุ้นคุณจะกลายเป็นเจ้าของบางส่วนตามจำนวนหุ้นที่ซื้อ ในทางตรงกันข้ามกับพันธบัตร เมื่อคุณซื้อพันธบัตรคุณกำลังเป็นผู้ให้กู้ (เจ้าหนี้) แทนที่จะเป็นเจ้าของบริษัท ซึ่งพันธบัตรโดยหลัก ๆ แล้วจะออกโดยรัฐบาลและบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ทำให้โดยทั่วไปจะมีเความเสี่ยงที่ต่ำ โดยเฉพาะพันธบัตรที่ออกโดยรัฐบาล เนื่องจากเป็นการลงทุนที่มั่นคง เพราะแทบไม่มีความเสี่ยงที่คุณจะไม่ได้รับดอกเบี้ยหรือสูญเสียเงินต้นเลย

ซึ่งพันธบัตรจะมีระบุถึงอัตราดอกเบี้ยที่ผู้ออกพันธบัตร (ลูกหนี้) สัญญาว่าจะจ่ายให้กับผู้ถือพันธบัตร (เจ้าหนี้) เป็นงวด ๆ ตลอดจนกระทั่งถึงวันครบกำหนดอายุ และก็เช่นเดียวกับหุ้น คุณสามารถที่จะซื้อพันธบัตรจากผู้ออกโดยตรง (ใช้เงินเริ่มต้นสูง) หรือสามารถซื้อผ่านกองทุนรวมที่ลงทุนในพันธบัตรก็ได้ (ใช้เงินเริ่มต้นต่ำ)

📌 เงินสด

เงินสดต้องลงทุนด้วยหรอ หลายคนอาจสงสัย การมีเงินสดไว้ในพอร์ต จะช่วยให้คุณมีความยืดหยุ่นและสภาพคล่องในการลงทุนเพิ่มขึ้น หรือเรียกง่าย ๆ มีกระสุนพอที่จะเอาไว้ลงทุน เมื่อโอกาสมาถึง แต่การลงทุนที่เรียกว่า เงินสด ไม่ใช่หมายถึง การเก็บไว้ในไหหรือซุกไว้ใต้เตียงหรอกนะครับ แต่การเก็บเงินสด หมายถึงการเก็บไว้ในบัญชีออมทรัพย์หรือพันธบัตรระยะสั้น (ซื้อผ่านกองทุนได้เช่นกัน)

แต่อย่าปล่อยให้มีเงินสดในพอร์ตคุณมากเกินไป เพราะนั่นหมายถึง เงินของคุณจะลดค่าลง เพราะถูกอัตราเงินเฟ้อกัดกินมูลค่า ในทางกลับกันหากคุณไม่มี เงินสด หรือมีน้อยมาก ๆ อาจจะทำให้คุณ ไม่มีสภาพคล่องเพียงพอ ในกรณีที่ต้องใช้จ่ายเงินฉุกเฉิน (ทำให้คุณต้องขายการลงทุนสินทรัพย์ตัวอื่น และเสียโอกาสในเรื่องผลตอบแทนที่จะได้รับ)

คราวนี้มาดูกันต่อว่า สิ่งที่คุณต้องคำนึงถึงในการจัดสรรพอร์ตการลงทุนของคุณมีอะไรบ้าง

☑ เป้าหมายของคุณ

หากเป้าหมายของคุณ คือ การเน้นสภาพคล่อง เพื่อสะดวกต่อการใช้เงินในยามจำเป็น การมีเงินสดไว้ในพอร์ตในส่วนที่สูง ดูท่าจะเหมาะกับคนมากกว่า แต่ในทางกลับกันหากเป้าหมายของคุณคือ การเกษียณอายุก่อนกำหนด (หรือที่เรียกว่า อิสรภาพทางการเงิน) การลงทุนในหุ้นในสัดส่วนที่มาก เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น ดูจะตอบโจทย์คุณมากกว่า

แต่ก็อีกนั่นแหละ เราก็มักจะมีเป้าหมายในการลงทุนหลากหลายในเวลาเดียวกัน ทั้งอยากมีอิสรภาพทางการเงิน และก็อยากได้บ้านสักหลัง หรืออยากมีเงินไว้ใช้ในยามเกษียณที่เพียงพอ แต่เราก็อยากให้เงิน ให้มรดก กับลูกหลานของเราด้วย นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมเราถึงต้องคอยจัดสรรเงินในพอร์ตของเราเพื่อปรับให้มันเข้ากับเป้าหมายที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นระยะ ๆ

☑ อายุของคุณ

สมมติว่า คุณต้องการเกษียณตอนอายุ 57 ปี คุณจะทำอย่างไร ถ้าพอร์ตการลงทุนของคุณลดลงไป 30% เมื่ออายุ 55 ปี ? คุณจะมีเงินจากส่วนอื่น ๆ ที่เพียงพอที่จะสามารถดำเนินตามแผนเดิมของคุณและเกษียณตามที่ตั้งใจตอนอายุ 57 ? หรือคุณจะต้องยืดระยะเวลาการทำงานต่อไปอีก ? ซึ่งโดยทั่วไปสำหรับเรา ๆ ที่ไม่ได้เป็นนักลงทุนมืออาชีพ เป็นเรื่องไม่ดีแน่ ถ้าพอร์ตการลงทุนของเราผันผวนเมื่อวันที่ใกล้เกษียณ

นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมจึงแนะนำให้คุณจัดสรรลงทุนในพันธบัตรให้มากขึ้น เมื่อใกล้เกษียณอายุ หากคุณลงทุนในหุ้นถึง 90% และเหลือเงินสด 5% พันธบัตร 5% เมื่ออายุ 60 ปีพอร์ตหุ้นของคุณก็มีโอกาสเติบโตสูง แต่ก็มาพร้อมความเสี่ยงสูงเช่นกัน ซึ่งในวัยนั้นคุณคงไม่ต้องการความเร้าใจขนาดนั้น

แต่หากคุณมีการจัดสรรพอร์ต โดยลงทุนหุ้น 45% ความเสี่ยงของคุณก็จะลดลง และแม้ผลตอบแทนจะลดลงไปบ้าง แต่อย่างน้อยก็ยังทำให้คุณมีชีวิตชีวาในการลงทุนอยู่ แต่การไม่มีการลงทุนในหุ้นเลย ไม่ได้แปลว่า คุณจะไม่เสี่ยงนะครับ เพราะความเสี่ยงของมันคือ การที่คุณอาจจะไม่มีรายได้จากผลตอบแทนเพียงพอให้คุณได้ใช้จ่ายในวัยเกษียณ

☑ การยอมรับความเสี่ยงของคุณ

กุญแจสำคัญในการคิดเกี่ยวกับการยอมรับความเสี่ยง คือ การสร้างสมดุลระหว่าง นิสัยของตัวคุณเอง (ชอบเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน) กับอีกสองปัจจัยที่กล่าวมาไว้ข้างต้น ทั้งเป้าหมายและอายุของคุณ เช่น หากคุณอายุ 65 ปีและคุณยังรักความตื่นเต้นท้าทาย แต่สิ่งที่คุณต้องให้นำหนักมากขึ้น คือ อายุและเป้าหมายของคุณ สำหรับการเกษียนในการปรับกลยุทธ์การลงทุนของคุณด้วย

แต่ถ้าคุณเพิ่งเริ่มต้นทำงานในวัย 22 ปี ซึ่งแน่ละคุณอาจจะมีนิสัยที่ยังรักความปลอดภัย เพราะตลาดหุ้นดูจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับคุณ แต่คุณควรจะแบ่งใจกับการลงทุนในหุ้น เพิ่มสีสันพอร์ทของคุณให้มีชีวิต ชีวามากขึ้น เพื่อให้คุณมีผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว จนกระทั่งถึงวัยเกษียณ

❗ สิ่งสำคัญสุดท้าย

การจัดสรรเงินลงทุนของคุณ เป็นการตัดสินใจส่วนบุคคลและไม่ใช่การตัดสินใจเพียงครั้งเดียวแล้วปล่อยลืม เพราะทั้งอายุที่มากขึ้น และเป้าหมายที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้คุณต้องทบทวนสัดส่วนพอร์ตการลงทุน

และอย่าลืมอีกว่า มูลค่าของพอร์ตที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น คุณรักความรักตื่นเต้น
ท้าทาย แต่คุณก็ไม่ถึงกับรักความเร้าใจสุด ๆ ทำให้ต้นปีกำหนดพอร์ตไว้ว่ามีหุ้น 80 พันธบัตร 15 และเงินสด 5 แต่ในระหว่างปีคุณมีการนำเงินปันผลที่ได้มาลงทุนในหุ้นต่อ ปิดสิ้นปีอาจจะทำให้สัดส่วนการลงทุนในหุ้นของคุณเพิ่มมากกว่า 80% หรืออาจเกือบถึง 90% ซึ่งถ้าคุณไม่ตรวจสอบและปรับสัดส่วนการลงทุนอีกครั้ง ก็อาจทำให้คุณไปอยู่ในกลุ่มรักความเร้าใจสุด ๆ โดยไม่ตั้งใจก็ได้ครับ

มีเงิน 100 บาท รักการลงทุนแบบไหน ลองเลือกได้ตามที่เหมาะกับคุณครับ

💰 แบบที่ 1 รักความปลอดภัย

สัดส่วนลงทุน : หุ้น 20* : พันธบัตร 50 : เงินสด 30
(*หุ้นขนาดใหญ่ 10, กลาง 5, หุ้นต่างประเทศ 5)

▪ มือใหม่ที่เพิ่งลงทุน
▪ เน้นความมั่นคง รักษาเงินทุนเป็นหลัก
▪ มีความจำเป็นใช้เงินทุนภายในห้าปี
▪ เน้นผลตอบแทนมากกว่าเงินฝากบ้าง

💰 แบบที่ 2 รักความมีชีวิตชีวา

สัดส่วนลงทุน : หุ้น 45* : พันธบัตร 40 : เงินสด 15
(*หุ้นขนาดใหญ่ 15, กลาง 10, เล็ก 10, หุ้นต่างประเทศ 5)

▪ พร้อมรับความเสี่ยงและความผันผวนระดับเริ่มต้น
▪ ลุ้นผลตอบแทนมากกว่าอัตราเงินเฟ้อ

💰 แบบที่ 3 รักความเติบโต

สัดส่วนลงทุน : หุ้น 65* : พันธบัตร 30 : เงินสด 5
(*หุ้นขนาดใหญ่ 20, กลาง 20, เล็ก 10, หุ้นต่างประเทศ 15)

▪ พร้อมรับความเสี่ยงและความผันผวนระดับที่สูงขึ้นได้
▪ เน้นการเติบโต และมีการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนที่สมดุลมากขึ้น

💰 แบบที่ 4 รักความตื่นเต้นท้าทาย

สัดส่วนลงทุน : หุ้น 80* : พันธบัตร 15 : เงินสด 5
(*หุ้นขนาดใหญ่ 25, กลาง 20, เล็ก 15, หุ้นต่างประเทศ 20)

▪ นักลงทุนหุ้นที่มีประสบการณ์
▪ ทนทานต่อความตกต่ำของตลาดได้
▪ ไม่ต้องการเงินจากการลงทุน 10 ปีขึ้นไป

💰 แบบที่ 5 รักความเร้าใจสุด ๆ

สัดส่วนลงทุน : หุ้น 90* : พันธบัตร 5 : เงินสด 5
(*หุ้นขนาดใหญ่ 20, กลาง 20, เล็ก 20, หุ้นต่างประเทศ 30)

▪ นักลงทุนที่คาดหวังผลตอบแทนสูง (เอาชนะตลาด)
▪ ทนทานต่อความผันผวนได้สุด ๆ
▪ ไม่ต้องการเงินจากการลงทุน 15 ปีขึ้นไป

❗ หมายเหตุ : โพสนี้จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดสรรเงินลงทุนเท่านั้น ผู้สนใจควรต้องศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการลงทุนเสมอนะครับ

———————————————

สนใจข้อมูลธุรกิจ การเงิน การลงทุน เล่าให้ฟังเข้าใจง่ายๆ พร้อมทั้งแรงบันดาลใจดีๆ ในการสร้างฝัน ติดตาม iYom Biz+Inspiration ได้ที่

website : https://iyom-bizinspiration.com

facebook : https://www.facebook.com/iYomBizInspirationBAYBBLCIMBTKBANKSCBกลุ่มแบงก์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *