ซื้อหุ้น 1,000 บาท เราเสียค่าธรรมเนียมอะไรบ้าง
จากโพสก่อนหน้าที่ได้มาอัปเดตค่าธรรมเนียม หรือค่าคอมมิชชัน ปี 2564 แบบบัญชี Cash Balance (Online) ที่แต่ละโบรกเกอร์เรียกเก็บกันไปแล้ว (อัปเดตค่าธรรมเนียมโบรกฯ แบบ Cash Balance (Online) ปี 2564) คราวนี้จะมาเจาะลึกกันหน่อยว่า ค่าธรรมเนียมที่โบรกเกอร์เรียกเก็บนั้นเราต้องเสียไปกับอะไรบ้าง
ซึ่งในที่นี้ผมขอยกตัวอย่างแบบทั้งบัญชีประเภท Cash Balance (Pre Paid) และประเภท Cash Account บนช่องทาง Online ที่น่าจะเป็นประเภทบัญชีที่นักลงทุนใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่ก่อนอื่นขออธิบายแต่ละประเภทบัญชีคร่าว ๆ ก่อนนะครับ
บัญชี Cash Balance หรือ Pre Paid : เป็นบัญชีที่นักลงทุนต้องฝากเงินสดเข้าไป ที่บัญชีโบรกเกอร์ก่อนถึงจะซื้อขายหุ้นได้ ใช้เท่าไหร่ก็ฝากเท่านั้น เมื่อคำสั่งซื้อขายเรียบร้อย ก็จะได้หุ้นหรือเงินเข้าพอร์ตทันที เปิดสะดวก อนุมัติง่าย ไม่ต้องใช้วงเงิน
บัญชี Cash Account : เป็นบัญชีที่นักลงทุนซื้อขายหุ้นได้มากกว่าเงินที่มี (จึงมักจะมีค่าธรรมเนียมสูงกว่าบัญชี Cash Balance) แต่ต้องวางเงินสดเป็นหลักประกันกับโบรกเกอร์ 20% ของยอดเงินที่ต้องการใช้ และเมื่อทำการซื้อหุ้นแล้ว ต้องโอนเงินที่เหลือให้โบรกเกอร์ภายใน 2 วันทำการ (T+2) ไม่เช่นนั้นจะต้องโดนค่าปรับ เวลาขายก็จะได้เงินคืนถายใน 2 วันทำการเช่นเดียวกัน
การเปิดต้องยื่นเอกสารทางการเงิน อย่างสำเนาบัญชีเงินฝากย้อนหลัง 3 เดือน เพื่อขออนุมัติวงเงิน
ในส่วนค่าธรรมเนียมที่เราต้องเสียเมื่อมีการซื้อขายหุ้น (กรณี Online) จะประกอบไปด้วย 5 ส่วน
ค่านายหน้า (Brokerage Fee) : จะเป็นค่าธรรมเนียมที่บริษัทโบรกเกอร์เรียกเก็บ จึงขึ้นอยู่กับแต่ละโบรกกำหนด ซึ่งจากในตัวอย่างกำหนดให้บัญชี Cash Balance = 0.15% และบัญชี Cash Account = 0.20% (ซึ่งจะมีทั้งแบบไม่มีขั้นต่ำและมีขั้นต่ำที่ 50 บาท/วัน)
ค่าธรรมเนียมตลาด (Trading Fee) = 0.005% ของมูลค่าการซื้อขาย : ที่ต้องชำระให้กับตลาดหลักทรัพย์
ค่าธรรมเนียมชำระราคา-ส่งมอบ (Clearing Fee) = 0.001% ของมูลค่าการซื้อขาย : ที่ต้องชำระให้กับบริษัทสำนักหักบัญชี (ในเครือของตลาดหลักทรัพย์)
ค่าธรรมเนียมการกำกับดูแล (Regulatory Fee) = 0.001% ของมูลค่าการซื้อขาย : ที่ต้องชำระให้กับสำนักงาน ก.ล.ต.
ค่าธรรมเนียมธนาคาร (ATS Fee) = 14 บาท/วัน : ที่ต้องชำระให้กับธนาคารหรือ Fintech แต่จะเก็บเฉพาะบัญชี Cash Account เท่านัน
โดยที่อัตราค่าธรรมเนียมที่โบรกเกอร์ประกาศบางครั้งจะใช้แค่ข้อ 1 แต่จะมีหมายเหตุไว้อยู่ข้างล่างว่ายังไม่รวมข้อ 2-4 จึงทำให้บางครั้งเรามักเห็นบางโบรกที่ถูกกว่าโบรกอื่น 0.007% (0.005+0.001+0.001) ซึ่งในโพสอัปเดตค่าธรรมเนียมก่อนหน้า ผมได้รวมไว้ให้เรียบร้อยแล้วนะครับ
ถึงแม้ค่าธรรมเนียมจะดูเป็นเรื่องเล็ก แต่เป็นสิ่งที่เราต้องใส่ใจ โดยเฉพาะถ้าเป็นประเภทที่มีขั้นต่ำ ซึ่งถ้าเรามีการซื้อขายบ่อยครั้ง ก็สามารถกัดกินเงินต้นหรือกำไรเราหดหายลงไปได้ (ที่เศร้ากว่านั้นตอนขาดทุนกลับต้องจ่ายเพิ่มอีก)
ฉะนั้น การพิจารณาโบรกเกอร์ที่ไม่มีขั้นต่ำก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่เราต้องคิดและตัดสินใจให้ดี คือ การซื้อขายหุ้นของเราแต่ละครั้งด้วยนั่นเอง
หมายเหตุ
1. การคิดค่าธรรมเนียมจะต้องมีการคิด VAT 7% ทุกรายการจากค่าธรรมเนียมนั้น ๆ ไม่ใช่ค่าหุ้นนะครับ (จากตัวอย่างผมคิดจากค่าธรรมเนียมรวมสุทธิ ซึ่งให้ผลไม่แตกต่างกัน)
2. ตัวอย่างในตารางเป็นการยกในกรณีการซื้อหุ้นมาใช้พิจารณาค่าธรรมเนียมเท่านั้น (หนึ่งครั้งหนึ่งวัน) ซึ่งการคิดค่าธรรมเนียมจะถูกคิดทุกครั้งที่มีการซื้อหรือขายหุ้นเสมอ
สนใจข้อมูลธุรกิจ การเงิน การลงทุน เล่าให้ฟังเข้าใจง่ายๆ พร้อมทั้งแรงบันดาลใจดีๆ ในการสร้างฝัน ติดตาม iYom Biz+Inspiration ได้ที่
website : https://iyom-bizinspiration.com
facebook : https://www.facebook.com/iYomBizInspiration