เราจ่ายเงิน 100 บาท กับอะไรบ้าง ใน 10 ธุรกิจรอบตัว
เคยสงสัยไหมครับ เงินที่เราจ่ายออกไปเป็นค่าสินค้า อาหารและบริการ ในธุรกิจที่อยู่รอบตัวเรา ต้องจ่ายไปกับอะไรบ้าง ซึ่งธุรกิจโดยส่วนใหญ่ถ้าดูตามงบกำไรขาดทุน หลัก ๆ ก็จะมีทั้งต้นทุนขาย กำไรขั้นต้น ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร ส่วนสุดท้ายคือ กำไรสุทธิที่ธุรกิจจะได้รับ
โพสนี้จึงจะมาเปรียบเทียบให้ดูง่าย ๆ ว่า เงิน 100 บาท ที่คุณต้องจ่ายให้กับ 10 ธุรกิจที่อยู่รอบตัว แต่ละธุรกิจจะมีค่าใช้จ่ายและกำไรเป็นอย่างไร โดยศึกษาจากงบกำไรขาดทุนจากบริษัทดัง ๆ ที่อยู่ในแต่ละธุรกิจ ที่ประกอบไปด้วย เสื้อผ้า, ร้านอาหาร, ชานมไข่มุก, เครือข่ายโทรศัพท์, สินค้า IT, ขนส่ง, ปั๊มน้ำมัน, โรงพยาบาล, สินค้าอุปโภคบริโภค และ Netflix
โดยส่วนใหญ่แต่ละรายการในงบกำไรขาดทุน
ต้นทุนขาย จะประกอบได้ด้วย วัตถุดิบ (ต้นทุนสินค้า/ต้นทุนบริการ) ค่าแรง ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด ค่าเสื่อมราคาเครื่องจักร/อุปกรณ์
ค่าใช้จ่ายขายและบริหาร จะประกอบด้วย ค่าจ้าง ค่าโฆษณาและประชาสัมพันธ์ ค่าเช่า ค่าดำเนินงาน ค่าเสื่อม เป็นต้น
ลองไปดูกันครับว่า เงิน 100 บาทที่คุณจ่ายไปในวันนี้ แต่ละธุรกิจเขามีต้นทุน ค่าใช้จ่าย และเหลือเป็นกำไรสุทธิกันเท่าไหร่
ธุรกิจเสื้อผ้า
เงิน 100 บาท เราจ่ายให้กับ ต้นทุนขาย 50 บาท (เป็นกำไรขั้นต้น 50 บาท) ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร 39 บาท เหลือเป็นกำไรสุทธิ 11 บาท
ตัวอย่างธุรกิจที่นำมาศึกษา : Uniqlo, H&M, ZARA, MC, FN
ธุรกิจร้านอาหาร
เงิน 100 บาท เราจ่ายให้กับ ต้นทุนขาย 42 บาท (เป็นกำไรขั้นต้น 58 บาท) ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร 46 บาท เหลือเป็นกำไรสุทธิ 13 บาท
ตัวอย่างธุรกิจที่นำมาศึกษา : MK group, ZEN, OISHI restaurant, S&P, After You, โอ๋กะจู๋, ฮะจิบัง, Iberry Group
ชานมไข่มุก
เงิน 100 บาท เราจ่ายให้กับ ต้นทุนขาย 66 บาท (เป็นกำไรขั้นต้น 34 บาท) ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร 18 บาท เหลือเป็นกำไรสุทธิ 16 บาท
ตัวอย่างธุรกิจที่นำมาศึกษา : The Alley, KOI, Kamu, Dakasi, Mr.Shake
เครือข่ายโทรศัพท์
เงิน 100 บาท เราจ่ายให้กับ ต้นทุนขาย 71 บาท (เป็นกำไรขั้นต้น 29 บาท) ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร 18 บาท เหลือเป็นกำไรสุทธิ 11 บาท
ตัวอย่างธุรกิจที่นำมาศึกษา : AIS, TRUE, DTAC
สินค้า IT
เงิน 100 บาท เราจ่ายให้กับ ต้นทุนขาย 87 บาท (เป็นกำไรขั้นต้น 13 บาท) ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร 10 บาท เหลือเป็นกำไรสุทธิ 3 บาท
ตัวอย่างธุรกิจที่นำมาศึกษา : BaNaNa IT, Jmart Mobile, JIB, Advice
ขนส่ง
เงิน 100 บาท เราจ่ายให้กับ ต้นทุนขาย 84 บาท (เป็นกำไรขั้นต้น 15 บาท) ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร 9 บาท เหลือเป็นกำไรสุทธิ 7 บาท
ตัวอย่างธุรกิจที่นำมาศึกษา : Kerry Express
ปั๊มน้ำมัน
เงิน 100 บาท เราจ่ายให้กับ ต้นทุนขาย 94 บาท (เป็นกำไรขั้นต้น 6 บาท) ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร 4 บาท เหลือเป็นกำไรสุทธิ 2 บาท
ตัวอย่างธุรกิจที่นำมาศึกษา : ปตท., บางจาก, พีที, เอสโซ่
โรงพยาบาล
เงิน 100 บาท เราจ่ายให้กับ ต้นทุนขาย 62 บาท (เป็นกำไรขั้นต้น 38 บาท) ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร 20 บาท เหลือเป็นกำไรสุทธิ 18 บาท
ตัวอย่างธุรกิจที่นำมาศึกษา : บํารุงราษฎร์, สมิติเวช, บางกอก เชน ฮอสปิทอล, รามคำแหง, จุฬารัตน์
สินค้าอุปโภคบริโภค
เงิน 100 บาท เราจ่ายให้กับ ต้นทุนขาย 67 บาท (เป็นกำไรขั้นต้น 33 บาท) ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร 27 บาท เหลือเป็นกำไรสุทธิ 6 บาท
ตัวอย่างธุรกิจที่นำมาศึกษา : Unilever, P&G, Colgate&Palmolive, Lion)
ดูซีรีย์ผ่าน Netflix
เงิน 100 บาท เราจ่ายให้กับ ต้นทุนขาย 60 บาท (เป็นกำไรขั้นต้น 40 บาท) ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร 29 บาท เหลือเป็นกำไรสุทธิ 11 บาท
ตัวอย่างซีรีย์น่าดูตอนนี้ : Snowpiercer, 18Again, Crime Scene, Partners for Justice (ไม่ได้ค่าโฆษณาใด ๆ ทั้งสิ้น)
หรือเพื่อน ๆ คนไหนอยากรู้ธุรกิจอะไรอีก ลองคอมเมนต์มาได้เลยนะครับ
หมายเหตุ :
1. ผลการดำเนินงานในแต่ละบริษัท เทียบเคียงจากปี 2562
2. โพสนีให้ภาพคร่าว ๆ สำหรับการดูโครงสร้างของงบกำไรขาดทุน เพื่อจะใช้เปรียบเทียบในการลงทุนในแต่ละธุรกิจ ทั้งจากลงทุนผ่านตลาดหุ้น หรือจะลงทุนเปิดร้านหรือให้บริการจริง
3. ในแต่ละธุรกิจจะมีรายละเอียดทั้งต้นทุนขาย และค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารแตกต่างกันไป จึงไม่ได้แปลว่า ธุรกิจที่ต้นทุนสูงใช่ว่าจะไม่ดี กำไรสูงใช่ว่าจะดีที่สุด ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องดูเปรียบเทียบกับเจ้าอื่น ๆ ในธุรกิจเดียวกันด้วย
Reference :
1. set.or.th
2. dbd.go.th
3. morningstar.com
สนใจข้อมูลธุรกิจ การเงิน การลงทุน เล่าให้ฟังเข้าใจง่ายๆ
พร้อมทั้งแรงบันดาลใจดีๆ ในการสร้างฝัน
ติดตาม iYom Biz+Inspiration ได้ที่
website : https://iyom-bizinspiration.com
facebook : https://www.facebook.com/iYomBizInspiration/