หุ้น ABC (…?…) สรุปเครื่องหมายหลังหุ้น คืออะไร ?
ช่วงต้น ๆ ปี จะเป็นช่วงที่เหล่าหุ้นทั้งหลาย มักมีตัวอักษรภาษาอังกฤษ งอกออกมาตามหลังชื่อหุ้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะที่เห็นบ่อย ๆ คือ XD, XM, CA, T1, SP เป็นต้น จึงอาจจะมีหลายคนร้องอุทานด้วยความสงสัยขึ้นมาว่า
“เฮ้ย มันคืออะไรกันวะ ?”
โพสนี้จึงตั้งใจจะมาคลายความสงสัยของนักลงทุนทั้งมือใหม่ มือเก่า โดยทำความเข้าใจกับตัวอักษรภาษาอังกฤษเหล่านั้น ที่เรียกว่า เครื่องหมาย ซึ่่งแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ คือ
กลุ่มที่ 1 เครื่องหมายกลุ่มตระกูล “X” หมดสิทธิ
โดย X ย่อมาจาก Exclude ที่แสดงถึง การไม่ได้รับสิทธิ ต่าง ๆ ซึ่งใครซื้อหุ้นวันที่ขึ้นเครื่องหมาย จะไม่ได้รับสิทธิ ดังนี้
XD (Excluding Dividend) : ไม่ได้สิทธิรับเงินปันผล
XR (Excluding Right) : ไม่ได้สิทธิจองซื้อหุ้นออกใหม่
XW (Excluding Warrant) : ไม่ได้สิทธิรับ Warrant* (Warrant คือ ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหลักทรัพย์)
XS (Excluding Short-term Warrant) : ไม่ได้สิทธิรับ Warrant ในการจองซื้อระยะสั้น
XT (Excluding Transferable Subscription Right) : ไม่ได้สิทธิรับใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้
XI (Excluding Interest) : ไม่ได้สิทธิรับดอกเบี้ย
XP (Excluding Principal) : ไม่ได้สิทธิรับเงินต้นที่บริษัทประกาศจ่ายคืนในคราวนั้น
XA (Excluding All) : ไม่ได้สิทธิทุกประเภทที่บริษัทประกาศให้ในคราวนั้น
XE (Excluding Exercise) : ไม่ได้สิทธิรับในการนำตราสารสิทธิไปแปลงสภาพเป็นหุ้นอ้างอิง
XM (Excluding Meetings) : ไม่ได้สิทธิเข้าประชุมผู้ถือหุ้น
XN (Excluding Capital Return) : ไม่ได้สิทธิในการรับเงินคืนจากการลดทุน
XB (Excluding Other Benefit) : ไม่ได้สิทธิจองซื้อหุ้นออกใหม่ในกรณีต่อไปนี้
– สิทธิจองซื้อหุ้นบุริมสิทธิ ที่จัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นสามัญ
– สิทธิจองซื้อหุ้นสามัญ ที่จัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ
– สิทธิในการจองซื้อหลักทรัพย์ที่เสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไป โดยจัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัท
– สิทธิในการจองซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทในเครือ
โดยก่อนที่จะขึ้นเครื่องหมาย X จะมีเครื่องหมายอีกตัวขึ้นก่อน นั่นคือ CA (Corporate Action) ที่จะแสดงว่าหุ้นกำลังจะขึ้นเครื่องหมาย X อะไรและวันไหน ภายในระยะเวลา 7 วันจากนี้ ที่จะแสดงไว้อยู่หลังชื่อหุ้น โดยจิ้มไปที่เครื่องหมาย CA จะมี pop up ขึ้นแจ้งเครื่องหมายตระกูล X และวันที่จะเกิดเหตุการณ์นั้น ๆ
และคำถามที่พบบ่อยคือ ซื้อหุ้นก่อนขึ้นเครื่องหมาย X และขายวันที่ขึ้นเครื่องหมาย X ยังได้สิทธิอยู่ไหม คำตอบคือ ยังได้รับสิทธิอยู่นะครับ แต่ต้องระวังอย่าเผลอซื้อวันที่ขึ้นเครื่องหมาย X เพราะยังไงก็หมดสิทธิครับ
(สิทธิในที่นี้หมายถึง สิทธิที่จะได้รับตามประกาศของบริษัทในช่วงเวลานั้นๆ ซึ่งไม่ได้แปลว่า จะไม่ได้รับสิทธินั้นอีกเลยในอนาคต)
กลุ่มที่ 2 เครื่องหมาย ตระกูล “แจ้งเตือน”
เป็นเครื่องหมายที่ต้องระมัดระวังอย่างมากก่อนที่จะลงทุนกับหุ้นเหล่านี้ เพราะเครื่องหมายในกลุ่มนี้ โดยส่วนใหญ่มักจะบ่งบอกว่า หุ้นนั้นมีปัญหา ซึ่งมีดังนี้
H (Trading Halt) : ห้ามซื้อขายหลักทรัพย์ชั่วคราว จากการมีข่าวหรือเหตุการณ์ที่กระทบต่อราคาหุ้น ซึ่งบริษัทยังไม่ได้ชี้แจง
SP (Trading Suspension) : ห้ามซื้อขายหลักทรัพย์ชั่วคราวเช่นเดียวกับเครื่องหมาย H แต่มีความเตือนแรงกว่า เพราะมีข่าวหรือเหตุการณ์ที่กระทบต่อราคาหุ้น แต่บริษัทไม่สามารถชี้แจงได้ หรือไม่ทำตามกฏหมายรวมทั้งไม่ส่งงบการเงิน
NP (Notice Pending) : บริษัทมีข้อมูลที่ต้องรายงานและตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างรอข้อมูลจากบริษัท
NR (Notice Received) : ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้รับการชี้แจงข้อมูลจากบริษัทแล้ว
NC (Non-Compliance) : บริษัทที่เข้าข่ายการถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ
ST (Stabilization) : หุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่มีการซื้อหุ้นเพื่อส่งมอบหุ้นที่จัดสรรเกิน (เช่น หุ้น OR ตอนนี้)
กลุ่มที่ 3 เครื่องหมาย ตระกูล “T” โดนกำกับ
สำหรับขาหุ้นซิ่ง คงมักจะเห็นเครื่องหมายตระกูลนี้ขึ้นมาแตะเบรคราคาอยู่เป็นพัก ๆ เพราะการที่มีขาซิ่งจำนวนมากเข้ามาไล่ราคา ทำให้เกิดการซื้อขายแบบผิดปกติ และเพื่อป้องกันความเสียหายอันจะเกิดต่อนักลงทุน ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ จะขึ้นเครื่องหมาย “T” เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขายตามระดับ ซึ่งแบ่งได้ 3 ระดับ ได้แก่
T1 (Trading Alert Level 1) : ระดับ 1 Cash Balance โดยเมื่อหุ้นตัวใดถูกขึ้นเครื่องหมาย T1 จะถูกขึ้นเครื่องหมายเป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์หลังจากวันที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศ
T2 (Trading Alert Level 2) : ระดับ 2 ห้ามคำนวณวงเงินซื้อขาย และ Cash Balance โดยเมื่อหุ้นหลุดออกมาจาก T1 แล้วไม่เกินหนึ่งเดือน แต่กลับเข้าเกณฑ์ Trading Alert list ซ้ำเป็นครั้งที่ 2 จะถูกเพิ่มให้เป็น T2 (และขยายระยะเวลาเพิ่มไปอีก 3 สัปดาห์หลังจากวันที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศ)
T3 (Trading Alert Level 3) : ระดับ 3 ห้าม Net Settlement, ห้ามคำนวณวงเงินซื้อขาย และ Cash Balance โดยเมื่อหุ้นหลุดออกมาจาก T2 แล้วไม่เกินหนึ่งเดือน แต่กลับเข้าเกณฑ์ Trading Alert list ซ้ำเป็นครั้งที่ 3 จะถูกเพิ่มให้เป็น T3 (และขยายระยะเวลาเพิ่มไปอีก 3 สัปดาห์หลังจากวันที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศ)
– Cash Balance หมายความว่า นักลงทุนต้องซื้อหลักทรัพย์ด้วยบัญชีแคชบาลานซ์เท่านั้น โดยวางเงินสดไว้กับโบรกเกอร์เต็มจำนวนก่อนซื้อหลักทรัพย์
– ห้ามคำนวณวงเงินซื้อขาย หมายความว่า ห้ามโบรกเกอร์ใช้หลักทรัพย์เป็นหลักประกันในการคำนวณวงเงินซื้อขายหลักทรัพย์ในทุกประเภทบัญชี
– ห้าม Net Settlement หมายความว่า ห้ามโบรกเกอร์หักกลบราคาค่าซื้อกับราคาค่าขายหลักทรัพย์เดียวกันในวันเดียวกัน (ซื้อและขายหลักทรัพย์เดียวกันในวันเดียวกัน ค่าขายคืนเป็นวงเงินในวันทำการถัดไป)
หวังว่าโพสนี้จะคลายความสงสัยให้นักลงทุนหลาย ๆ ท่านนะครับ จะได้เตรียมพร้อมและเข้าใจสนามการลงทุนในตลาดหุ้น เพิ่มความแข็งแกร่งให้ปีกเม่าเข้าไปอีกนิด
Reference : set.or.th
สนใจข้อมูลธุรกิจ การเงิน การลงทุน เล่าให้ฟังเข้าใจง่ายๆ พร้อมทั้งแรงบันดาลใจดีๆ ในการสร้างฝัน ติดตาม iYom Biz+Inspiration ได้ที่
website : https://iyom-bizinspiration.com
facebook : https://www.facebook.com/iYomBizInspiration