อีก 10 ปี คุณอยากมีเงินเท่าไหร่ มาลองเริ่มลงทุนตั้งแต่ตอนนี้
การมีอิสรภาพทางการเงิน ผมว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนใฝ่ฝันอยากจะไปถึงจุดนั้น ไม่ใช่ว่าไม่ต้องทำงาน นั่งกิน นอนกินไปวัน ๆ แต่การมีอิสรภาพทางการเงิน หมายถึง การมีอิสระในการใช้ชีวิต เลือกทำในสิ่งที่เราต้องการ โดยไม่ต้องมาคำนึงถึงเรื่องเงินเป็นปัจจัยหลักจนเกินไป
.
แต่ก่อนที่เราจะมีอิสรภาพทางการเงินได้นั้น สิ่งหนึ่งที่ใกล้ตัวเรา และทำได้ตั้งแต่ตอนนี้เลยคือ การรู้จักเก็บเงินให้เป็นและเก็บให้อยู่เป็นอันดับแรก
.
ซึ่งโพสนี้จะมาชวนเพื่อน ๆ ให้ได้มาลองคิดดูว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า ใครอยากมีเงินเท่าไหร่กันบ้าง ผ่านตารางในรูป
.
[ คำอธิบายตาราง
แนวนอน จะเป็นอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยที่ต้องการ ผมใส่ไว้ตั้งแต่ 0-10%
แนวตั้ง เป็นเงินเก็บต่อเดือนที่คุณตั้งเป้าหมายไว้ ผมตั้งต้นที่ 1,000 บาท ไล่ไปจนถึง 20,000 บาทต่อเดือน
จำนวนเท่าของเงินที่ได้เมื่อเทียบกับเงินต้นที่เราเก็บ แล้วหยอดปุกไว้เฉย ๆ ไม่ทำอะไรเลย เช่น ถ้าเราเลือกลงทุนที่ให้อัตราผลตอบแทนที่ 2% ก็จะมีเงินมามากกว่าการหยอดปุกไว้ 1.11 เท่า เป็นต้น
*ซึ่งความลับของตัวนี้ คือ เวลายิ่งคุณเริ่มลงทุนได้เร็ว สามารถสะสมเวลาในการลงทุนได้นาน ยิ่งสร้างผลตอบแทนในการลงทุนได้มากขึ้น (จำนวนเท่าเพิ่มขึ้น)
ในส่วนการเลือกลงทุน หมายถึง ประเภทสินทรัพย์หรือวิธีที่คุณลงทุนตามอัตราผลตอบแทนที่น่าจะได้รับ โดยกำหนดให้
– อัตราผลตอบแทนเฉลี่ย 0% คือ การหยอดปุก นอนกอดไว้
– อัตราผลตอบแทนเฉลี่ย 2-4% คือ ฝากประจำ หรือลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้
– อัตราผลตอบแทนเฉลี่ย 6-10% คือ หุ้นในประเทศ* หรือกองทุนรวมหุ้น
(*ค่าเฉลี่ยผลตอบแทนในตลาดหุ้น 5-10% ต่อปี เป็นค่าเฉลี่ยในระยะยาว ทว่าผลตอบแทนเฉลี่ยที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงจะแตกต่างกันไป)
.
การแปลความหมาย เช่น
ถ้าคุณเก็บเงิน 1,000 บาทต่อเดือน โดยเลือกหยอดปุก อีก 10 ปี คุณจะมีเงิน 120,000 บาท
ถ้าคุณเก็บเงิน 1,000 บาทต่อเดือน โดยเลือกฝากประจำ หรือลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้
อีก 10 ปี คุณจะมีเงิน 132,720 บาท เป็นอย่างน้อย
ถ้าคุณเก็บเงิน 1,000 บาทต่อเดือน โดยเลือกลงทุนหุ้นในประเทศ หรือกองทุนรวมหุ้น อีก 10 ปี คุณจะมีเงิน 163,879 บาท เป็นอย่างน้อย ]
.
ฝากไว้ให้คิด
จะเห็นได้ว่าเรื่องการลงทุนให้เงินงอกเงยในระยะยาว จะขึ้นกับ 3 ปัจจัยเป็นสำคัญ นั่นคือ เงินลงทุน อัตราผลตอบแทน และระยะเวลา คุณจะได้ตามเป้าหมายหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าคุณสามารถปรับ 3 ปัจจัยนี้ให้เหมาะกับตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน
ถ้าคุณเงินทุนไม่มาก (อย่าใช้เป็นข้ออ้างในการไม่ลงทุน) แต่สิ่งที่คุณต้องรู้คือ เวลาจะช่วยคุณได้ เพราะฉะนั้น ควรเริ่มลงทุนให้เร็ว
ถ้าคุณไม่ค่อยมีเวลา (อายุมากแล้ว หรือวางแผนว่าจะใช้เงิน) คุณจำเป็นต้องเพิ่มเงินลงทุนตั้งต้น (เงินเก็บต่อเดือน) ให้มากเข้าไว้ ยิ่งถ้าคุณลงทุนได้เร็วด้วย มันจะทวีคูณเลยนะ
ถ้าคุณรับความเสี่ยงไม่ได้ (หุ้นผลตอบแทนสูง แต่ก็เสี่ยงสูง) คุณจำเป็นต้องลงทุนกับตัวเองมากขึ้น โดยการศึกษาเรียนรู้ เพื่อเข้าใจความเสี่ยงในการลงทุนหุ้น และกระจายการลงทุนให้หลากหลาย อาจจะสัดส่วนไม่มากแต่ก็ดีกว่าฝากธนาคารเฉย ๆ เพราะแม้คุณมีเงินตั้งต้นมาก ลงทุนเร็ว สุดท้ายอาจจะไม่ต่างกับคุณหยอดปุกก็เป็นได้ (เพราะอัตราเงินเฟ้อกินหมด)
.
สุดท้าย ผมได้ทำตารางนี้เป็นไฟล์ Excel ให้เพื่อน ๆ คนไหนอยากลองปรับเปลี่ยน ช่วงเวลา, อัตราผลตอบแทน, เงินเก็บต่อเดือน หรือใครมีเงินตั้งต้นอยู่ก่อนแล้ว แต่อยากเก็บเพิ่มต่อเดือน สามารถไปดาวน์โหลดมาใช้งานได้ครับ ที่ > https://bit.ly/3sCxFSs
.
หมายเหตุ
- โพสนี้จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นแนวทางในการลงทุนเท่านั้น อัตราผลตอบแทนแต่ละประเภทสินทรัพย์อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต
- สินทรัพย์ที่ยกขึ้นมาเป็นทางเลือกการลงทุนนั้น เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น นักลงทุนสามารถเลือกประเภทสินทรัพย์อื่น ๆ ตามต้องการ
- การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้สนใจควรศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุนเสมอนะครับ🙂
สนใจข้อมูลธุรกิจ การเงิน การลงทุน เล่าให้ฟังเข้าใจง่ายๆ พร้อมทั้งแรงบันดาลใจดีๆ ในการสร้างฝัน ติดตาม iYom Biz+Inspiration ได้ที่
website : https://iyom-bizinspiration.com
facebook : https://www.facebook.com/iYomBizInspiration