เช็คผลการดำเนินงาน 10 ธนาคาร ประจำปี 2563
ในปี 2563 ปีแห่งวิกฤตที่หลายธุรกิจได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 และหนึ่งในธุรกิจที่ถือเป็นตัวชี้ภาวะเศรษฐกิจได้ชัดเจน คือ กลุ่มแบงก์
ซึ่งตอนนี้ต่างก็ประกาศผลการดำเนินงานประจำปี 2563 กันมาแล้ว และก็เป็นไปตามคาด เพราะแม้จะไม่ถึงกับขาดทุน แต่โดยรวมแล้ว ทั้ง 10 ธนาคารต่างอยู่ในภาวะความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งกำไรที่ลดลง หนี้เสีย (NPLs) และมีการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้น (การตั้งสำรองหนี้เสียจะกลับมาเป็นกำไรสุทธิ เมื่อสถานการณ์กลับมาปกติ) โพสนี้จึงจะมาเช็คสุขภาพแบงก์ทั้ง 10 ทั้ง 3 จุด ดังนี้
ผลกำไร ปี 2563
กำไรสุทธิของแบงก์ของทั้ง 10 ธนาคาร ประจำปี 2563 อยู่ที่ 138,968 ลบ. ลดลง 64,020 ลบ. หรือลดลง 32% จาก 202,988 ลบ. ในปี 2562 ซึ่งเป็นที่สังเกตว่าการลดลงในรอบนี้ ลดลงมากที่สุดในรอบ 9 ปี นับจากปี 2555
ซึ่งธนาคารที่มีมูลค่ากำไรลดลงมากสุด 3 อันดับแรก คือ
อันดับ 1 คือ ธนาคารกรุงเทพ ที่ลดลงถึง 52% มาอยู่ที่ 17,546 ลบ. จาก 36,213 ลบ. หรือลดลง 18,667 ลบ.
อันดับ 2 คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ลดลงถึง 33% มาอยู่ที่ 27,218 ลบ. จาก 40,436 ลบ. หรือลดลง 12,218 ลบ.
อันดับ 3 คือ ธนาคารกรุงไทย ที่ลดลงถึง 43% มาอยู่ที่ 16,731 ลบ. จาก 29,284 ลบ. หรือลดลง 12,553 ลบ.
ในขณะที่ธนาคารที่ทำกำไรได้มากสุดในปี 2563 คือ
อันดับ 1 ธนาคารกสิกรไทย กำไรสุทธิอยู่ที่ 29,487 ลบ.
อันดับ 2 ธนาคารไทยพาณิชย์ กำไรสุทธิอยู่ที่ 27,218 ลบ.
อันดับ 3 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กำไรสุทธิอยู่ที่ 23,340 ลบ.
อนึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้กำไรของแบงก์ลดลงคือ การตั้งสำรองเผื่อหนี้เสียที่อาจะเกิดขึ้นจากผลกระทบของโควิด-19
ธนาคารที่มีหนี้เสีย (NPLs) สูงสุด ณ สิ้นปี 2563
โดยมูลค่าหนี้เสียของทั้ง 10 ธนาคาร ณ สิ้นปี 2563 รวมอยู่ที่ 530,333 ลบ. เพิ่มขึ้น 16% จากปี 2562 ซึ่งแบงก์ที่มีหนี้เสียสูงสุด 3 อันดับแรก คือ
อันดับ 1 ธนาคารกรุงไทย มีหนี้เสียอยู่ที่ 107,138 ลบ.
อันดับ 2 ธนาคารกรุงเทพ มีหนี้เสียอยู่ที่ 104,405 ลบ.
อันดับ 3 ธนาคารไทยพาณิชย์ มีหนี้เสียอยู่ที่ 104,405 ลบ.
ส่วนธนาคารที่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของหนี้เสียเพิ่มมากขึ้นสูงสุด คือ ธนาคารกรุงเทพ ที่หนี้เสียปรับเพิ่มขึ้นถึง 32% ในส่วนธนาคารที่มีหนี้เสียลดลงในปีนี้มี 3 ธนาคาร คือ ธนาคารซีไอเอ็มบี, ธนาคารเกียรตินาคินภัทร และธนาคารทิสโก
ธนาคารที่มีการตั้งสำรองสูงสุด ปี 2563
โดยการตั้งสำรองปี 2563 ทั้ง 10 ธนาคาร รวมอยู่ที่ 241,969 ลบ. เพิ่มขึ้น 41% จากปี 2562 ซึ่งแบงก์ที่มีการตั้งสำรองสูงสุด 3 อันดับแรก คือ
อันดับ 1 ธนาคารไทยพาณิชย์ มีการตั้งสำรองอยู่ที่ 46,649 ลบ.
อันดับ 2 ธนาคารกรุงไทย มีการตั้งสำรองอยู่ที่ 44,903 ลบ.
อันดับ 3 ธนาคารกสิกรไทย มีการตั้งสำรองอยู่ที่ 43,548 ลบ.
ส่วนในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ ที่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของการตั้งสำรองเพิ่มมากขึ้นสูงสุด คือ ธนาคารกรุงไทย ที่มีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นถึง 93% ในส่วนธนาคารที่มีการตั้งสำรองลดลงในปีนี้ คือ ธนาคารกรุงเทพ
อนึ่งการตั้งสำรองหนี้เสียจะกลับมาเป็นกำไรสุทธิ เมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ
และนี่ก็คือ ภาพรวมของผลการดำเนินงานของกลุ่มแบงก์ ประจำปี 2563 ส่วนในปีนี้เป็นอีกปีที่ท้าทายของธุรกิจธนาคารเช่นเดียวกัน ทั้งจากผลกระทบจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจที่ยังคงเรื้อรังต่อเนื่อง และที่สำคัญ การที่ต้องถูกดิสรัปชันจากเทคโลยีใหม่ ๆ ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้ หุ้นกลุ่มแบงก์อาจยังต้องเหนื่อยไปอีกหลายยก
หมายเหตุ
1. ธนาคารทหารไทยและธนาคารธนชาต อยู่ระหว่างการควบรวมกิจการ ทำให้ทั้งกำไร หนี้เสีย และตัวการตั้งสำรอง เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
2. การลงทุนมีความเสี่ยงผู้สนใจควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการลงทุนเสมอนะครับ
Reference :
1. ตลาดหลักทรัพย์
2. The Standard
สนใจข้อมูลธุรกิจ การเงิน การลงทุน เล่าให้ฟังเข้าใจง่ายๆ พร้อมทั้งแรงบันดาลใจดีๆ ในการสร้างฝัน ติดตาม iYom Biz+Inspiration ได้ที่
website : https://iyom-bizinspiration.com
facebook : https://www.facebook.com/iYomBizInspiration