KEX : Kerry Express ขนส่งด่วน ๆ รายได้โตกระฉูด

KEX : Kerry Express ขนส่งด่วน ๆ รายได้โตกระฉูด

“สวัสดีครับ มีพัสดุมาส่งครับ !”

ทุกวันนี้เหลือบมองไปรอบบ้าน จะเห็นกล่องหรือห่อพัสดุจากการสั่งของหรือสินค้าเต็มไปหมด ส่วนตัวแอดเอง มีการสั่งของ ซื้อของมาเกือบทุกอาทิตย์ ทั้ง ๆ ที่ถ้าย้อนหลังไปสักปีแทบจะไม่ค่อยได้ช้อบทางออนไลน์เลย แต่มาในวันนี้ อะไรก็ดูสะดวกและง่ายดาย และหนึ่งในผู้ส่งสินค้าที่เรามักจะได้รับ หรือใช้บริการ คงหนีไม่พ้น Kerry Express

ต้องบอกเลยว่า จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไป จากการเติบโตของ e-Commerce มาก่อนหน้านี้ ทำให้การบริการจัดส่งสินค้าเติบโตตามไปด้วย และยิ่งในปีนี้เจอวิกฤตโควิด-19 ยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ทั้งระบบซัพพลายเชนของตลาดสินค้า e-Commerce เติบโตแบบก้าวกระโดด รวมทั้ง Kerry Express ด้วยเช่นกัน ที่กำลังทะยานเข้าสู่ตลาดหุ้นในวันที่ 24 ธ.ค.63 นี้

โดย Kerry Express มาจากกลุ่มเคอรี่ โลจิสติกส์ เน็ทเวิร์ค (Kerry Logistics Network Limited: KLN) ที่จดทะเบียนหลักทรัพย์ในประเทศฮ่องกง และได้ทำการขยายสาขาออกไปในโซนเอเชีย ทั้ง เวียดนาม สิงค์โปร กัมพูชา อินโดนีเซีย ไต้หวัน ฮ่องกง และไทย โดยเข้ามาบุกตลาดในไทยตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งเริ่มให้บริการจัดส่งพัสดุภาคเอกชนรายแรกในไทย และยังให้บริการจัดส่งพัสดุแบบครบวงจร เจาะกลุ่มลูกค้าทุกประเภท

ด้วยการเติบโตของตลาด e-Commerce ในไทยอย่างที่กล่าวไว้ในข้างต้น ทำให้ Kerry มีรายได้เติบโตจาก 1,500 ล้านบาทในปี 2558 มาถึงเกือบ 20,000 ล้านบาท ในปี 2562 หรือมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 90%* ต่อปี ในขณะที่กำไรสุทธิก็ไม่น้อยหน้า มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 77%* ต่อปี จาก 135 ล้านบาท มาเป็น 1,329 ล้านบาท

ซึ่งนอกจากการเติบโตของตลาด e-Commerce ที่ช่วยผลักดันรายได้ของ Kerry ให้โตแบบติดจรวดขนาดนี้ อีกเรื่องนั่นคือ การเลือกคู่ค้า (Partner) ซึ่งการเลือกพันธมิตรทางกลยุทธ์ (Strategic Partner) ที่แข็งแกร่ง เพื่อสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ทำให้เกิดความร่วมมือทางกลยุทธ์ธุรกิจที่สำคัญ เช่น

– ร่วมกับเครือ Central (Officemate,Tops Supermarket) ในการเพิ่มจุดรับและส่งสินค้า

– ร่วมมือกับ BTS เพื่อสร้าง BTS Express Service ที่มีจุดบริการอยู่ 4 สถานี คือ สยาม พร้อมพงษ์ ทองหล่อ และศาลาแดง

– ร่วมมือ กับ Shopee ในการเป็นผู้ให้บริการหลักในการจัดส่งสินค้า

– ร่วมมือกับ ธนาคารกรุงเทพ เพื่อพัฒนาระบบการชำระเงิน และให้บริการสินเชื่อ SMEs Small Loan แก่ผู้ส่งสินค้าด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษ

ด้วยแนวโน้มผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง และกลยุทธ์ในการรุกธุรกิจ ทำให้ตอนนี้ Kerry Express ขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งในการขนส่งด่วนในไทย แต่ความยากยิ่งก็คือ Kerry จะทำอย่างไรในการจะรักษาแชมป์ครั้งนี้ ท่ามกลางภาวะการแข่งขันที่ดุเดือด จากคู่แข่งรายใหม่ ๆ ที่เข้ามา และหนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญ นั่นคือ การนำ Kerry Express หรือ KEX วิ่งเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์นั่นเอง

——————————————————————

📌 ข้อมูลบริษัท

KEX : บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

1. ลักษณะการประกอบธุรกิจ :

ให้บริการจัดส่งพัสดุในประเทศไทย โดยแบ่งกลุ่มลูกค้าออกเป็น 3 กลุ่มดังนี้

กลุ่มที่ 1 บุคคลส่งถึงบุคคล (C2C)

กลุ่มที่ 2 ธุรกิจส่งถึงบุคคล (B2C)

กลุ่มที่ 3 ธุรกิจส่งถึงธุรกิจ (B2B)

ปัจจุบันมี Kerry มีจำนวนพัสดุที่ต้องส่งเฉลี่ย 1.2 ล้านชิ้นต่อวัน (เคยทำสถิติสูงสุดที่ 2.0 ล้านชิ้นต่อวัน) จุดให้บริการรับส่งพัสดุกว่า 15,000 แห่ง ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย และมีรายได้ในปี 2562 สูงถึงเกือบ 2 หมื่นล้านบาท

ในส่วนรายได้ 9 เดือนแรกปี 2563 เท่ากับ 14,688 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.2% จากช่วง 9 เดือนแรกปี 2562 ที่ 14,655 ล้านบาทในขณะที่กำไรสุทธิ 9 เดือนแรกปี 2563 เท่ากับ 1,030 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.6% จากช่วง 9 เดือนแรกปี 2562 ที่ 900 ล้านบาท

2. IPO : จำนวน 300 ล้านหุ้น คิดเป็น 17.2% ของหุ้นทั้งหมดหลัง IPO

3. ราคาเสนอขาย : 28 บาทต่อหุ้น (PE ประมาณ 33 เท่า)

4. การจ่ายปันผล : ไม่น้อยกว่า 30%

5. แผนการระดมทุน : นำไปใช้ขยายธุรกิจ ปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน ชำระเงินกู้และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ

6. ผู้ถือหุ้นใหญ่หลัง IPO :

– KLN : เคอรี่ โลจิสติกส์ เน็ทเวิร์ค 52.1%

– VGI : บริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) 19.0%

– ประชาชนทั่วไป 17.2%

– อื่น ๆ 11.7%

ผู้ที่สนใจสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่นี่ > https://bit.ly/3h006VA

❗ คุณรู้หรือไม่ ❗

ประเภทของบริษัทขนส่ง แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ

1. การขนส่งพัสดุแบบรายชิ้น

เป็นบริการที่เราจะคุ้นเคยเป็นอย่างดี ที่จะมีการคิดค่าบริการตามน้ำหนักรายชิ้น หรือขนาดกล่องบรรจุสินค้า ในราคาไม่สูงมาก แถมยังมีสาขาของบริษัทต่าง ๆ ให้บริการกระจายไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ทำให้สะดวกสบายในการใช้บริการ จึงเหมาะสำหรับ ธุรกิจ e-Commerce ค้าปลีก ที่มีการขายและจัดส่งสินค้าส่วนใหญ่เป็นรายชิ้น โดยบริษัทขนส่งพัสดุแบบรายชิ้น เช่น

เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (Kerry Express) รายได้ปี 2562 : 19,782 ล้านบาท

เจแอนด์ที เอ็กซ์เพรส (J&T Express) n/a

แฟลช เอ็กซ์เพรส (Flash Express) รายได้ปี 2562 : 2,089 ล้านบาท

เอสซีจี เอ็กซ์เพรส (SCG Express) รายได้ปี 2562 : 612 ล้านบาท

นินจา แวน (Ninja Van) รายได้ปี 2562 : 494 ล้านบาท

อัลฟ่า ฟาสต์ (Alpha Fast) รายได้ปี 2562 : 278 ล้านบาท

เบสท์ เอ็กซ์เพรส (Best Express) รายได้ปี 2562 : 241 ล้านบาท.

2. บริษัทขนส่งแบบออนดีมานด์ หรือเหมาคัน

เป็นอีกหนึ่งรูปแบบการขนส่งที่ได้รับความนิยม เนื่องจากจะเกิดการประหยัดจากขนาดเมื่อเราทำการขนส่งจำนวนมาก ๆ และยังสามารถเลือกใช้บริการขนส่งได้ตามความต้องการ (On Demand) ในการรับสินค้าตามจุดที่กำหนด และจัดส่งสินค้าไปยังปลายทาง ระบุเวลาและจุดรับส่งได้ เหมาะสำหรับธุรกิจที่ต้องขนย้ายสินค้า กระจายสินค้า ธุรกิจที่ต้องขนย้ายของจากคลังสินค้าหรือโรงงาน และการขนส่งระหว่างโรงงานหรือคลังสินค้า โดยบริษัทขนส่งแบบออนดีมานด์ หรือเหมาคัน เช่น

เอสซีจี โลจิสติกส์ (SCG Logistics), รายได้ปี 2562 : 15,469 ล้านบาท

ลาล่ามูฟ (Lalamove), รายได้ปี 2562 : 2,378 ล้านบาท

เดอะ ลอรี่ (TheLorry), n/a

Deliveree, n/a

หมายเหตุ :

โพสนี้จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการลงทุนเท่านั้น เพราะการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้สนใจควรต้องศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการลงทุนเสมอ

Reference : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า / ตลาดหลักทรัพย์ / th.kerryexpress.com

* Compound Annual Growth Rate : CAGR หรือ อัตราการเติบโตเฉลี่ยรายปี

—————————————————

สนใจข้อมูลธุรกิจ การเงิน การลงทุน เล่าให้ฟังเข้าใจง่ายๆ พร้อมทั้งแรงบันดาลใจดีๆ ในการสร้างฝัน ติดตาม iYom Biz+Inspiration ได้ที่

website : iyom-bizinspiration.com

facebook : https://www.facebook.com/iYomBizInspiration/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *