กระต่ายตกปลา ในโลกธุรกิจ
กาลครั้งหนึ่ง มีกระต่ายตัวหนึ่ง อยากจะไปตกปลา แต่ก็ครุ่นคิดอยู่นานว่าจะใช้อะไรเป็นเหยื่อดี นึกขึ้นได้ว่าสิ่งที่ตัวเองชอบที่สุดและยังดูมีประโยชน์สุด ๆ คือ แครอท จึงรีบหยิบเอาแครอทของโปรดตัวเอง ไปตกปลาในทันที
วันแรกผ่านไป กระต่ายเดินกลับมาตัวเปล่า ไม่ได้ปลา เสียแครอท
วันที่สอง กระต่ายเดินกลับมาตัวเปล่าอีกครั้ง ด้วยความเศร้า แล้วลืมโวยวายกับตัวเองว่า อะไรกันฉันอุสาห์เสียสละแครอทที่ชอบสุด ไปตกปลา แต่นี่อะไรตกปลาก็ไม่ได้ แถมยังเสียแครอท อดกินไปหลายหัวแล้ว
แต่แทนที่จะหยุดอยู่แค่นั้น กระต่ายยังมีความพยายามที่จะตกปลา ด้วยแครอทต่อไป เพราะยังเชื่อว่าของมันดีจริง ๆ ยังไงก็น่าจะตกได้สักตัว
วันที่สาม ในขณะที่กำลังรอปลากินเบ็ดอยู่ ทันใดนั้น มีปลาตัวหนึ่งกระโดดขึ้นจากน้ำ แล้วตะโกนบอกเจ้ากระต่ายว่า “ถ้าเจ้ายังเอาแครอท มาตกปลาอีก เจ้าจะได้กลับบ้านมามือเปล่าแน่ ๆ เพราะสิ่งที่เจ้าชอบ ไม่ได้แปลว่า ปลาจะต้องชอบนะ จำไว้”
คุณพอจะคุ้น ๆ กับเรื่องราวเหล่านี้บ้างไหมครับ ไม่ใช่หมายถึงการตกปลา ไม่ใช่หมายถึงกระต่าย ไม่ใช่หมายถึงปลา และก็ไม่ได้หมายถึงแครอท
แต่เป็นสิ่งที่คุณมักคิดว่า คุณเสียสละของที่ดีที่สุด เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายที่ดีที่สุดแล้ว แต่ทำไมถึงไม่เคยมีใครสนใจ แล้วคุณก็มานั่งพร่ำบ่นว่า ฉันขายของที่ดีมีประโยชน์มากแล้วนะ หรือ ฉันขายของราคาถูก หรือ ผลิตภัณฑ์ฉันสุดยอดมาก ๆ แล้วนะ หรือ ฉันมีแพลตฟอร์มที่ดีมากแล้วนะ
แต่ทำไมถึงไม่มีใครสนใจ (ซื้อ)
ใช่ครับ บ่อยครั้ง เราเริ่มต้นธุรกิจ ด้วยการติดกับดักทางความคิดดังกล่าว ที่ทำให้เราจมอยู่กับสิ่งที่ดีที่สุด แต่ไม่ใช่สิ่งที่ลูกค้าหรือใครต้องการ การทำธุรกิจหรือการจะเป็นผู้ประกอบการที่ดีนั้น สิ่งที่คุณต้องใส่ใจจริง ๆ นั่นคือ ความต้องการของลูกค้า (ไม่ใช่สิ่งที่คุณต้องการขาย)
ซึ่งถ้าคุณยังไม่แน่ใจว่าใช่สิ่งที่ลูกค้าต้องการหรือไม่ ก็แค่ลองออกสินค้าหรือบริการขึ้นมาสักอย่าง แล้วทดลองตลาดแนะนำให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของคุณ สิ่งสำคัญคือ คุณต้องฟังเสียงพวกเขาให้มาก เปิดพื้นที่ที่จะให้เขาได้บอกถึงสิ่งที่เขาต้องการ อะไรจะช่วยแก้ปัญหาเขาได้ แล้วจึงมาปรับเปลี่ยนสินค้าและบริการของคุณ เพื่อสร้างความพึงพอใจของลูกค้า
คุณจะเป็นกระต่ายที่ไม่สนใจ สิ่งที่ปลาร้องบอก และเอาแครอทกลับไปตกปลาเหมือนเดิม ๆ หรือจะรับรู้ถึงสิ่งที่ปลาต้องการ แล้วกลับมาพร้อมกับไส้เดือนสักตัวดีละครับ