ความรัก + ทักษะ + ความต้องการของตลาด
ผมว่าคุณน่าจะเคยได้ยินกันมาหลายครั้งแล้วว่า กุญแจสู่ความสำเร็จ นั่นคือ การทำในสิ่งที่ตัวเองรัก บ่อยครั้งที่คำพูดเหล่านี้มักจะลอยเข้ามา ตอนที่เรามักจะคิดอะไรไม่ออกว่าจะทำอะไรกับชีวิตดี ซึ่งดูเหมือนเป็นคำแนะนำที่ดี แต่บางทีก็อาจทำให้คุณหลงทางได้เหมือนกัน
ที่ผมพูดแบบนี้ ไม่ใช่ไม่เชื่อแนวคิดนี้นะครับ แต่ผมเจอกับตัวแล้วว่า บางทีการได้ทำอะไรในสิ่งที่รักแม้จะเป็นแรงขับที่จะทำให้เราเคลื่อนตัวไปข้างหน้า แต่แน่นอนว่านั่น ยังไม่เพียงพอ ความรักเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น คุณยังต้องรู้จักความสามารถของตัวเองและต้องรู้ว่าคนอื่น ๆ ให้คุณค่ากับมันแค่ไหนด้วย
คุณรักในการทำบางสิ่ง แต่คุณกลับทำออกมาไม่ได้เรื่อง การพยายามที่จะเอาดีทางด้านนั้นโดยไม่สนใจอะไร อาจจะทำให้คุณปีนภูเขาที่ผิดลูกอยู่ก็ได้ เช่น คุณรักการร้องเพลง แต่ทุกครั้งกลับร้องเพลงไม่เคยถูกจังหวะ ซึ่งทางออกของคุณสำหรับเรื่องนี้ แค่ทำตัวเป็นแฟนคลับคอยชมคอนเสิร์ตน่าจะดีกว่าพยายามจะยึดเป็นอาชีพ
คุณรักในบางสิ่ง และก็สามารถทำออกมาค่อนข้างดีแต่กลับไม่มีตลาดรองรับความสามารถดังกล่าว เช่น คุณรักการวาดรูปและทำออกมาได้อย่างดี แต่คุณก็รู้ดีว่า ตลาดสำหรับความสามารถเหล่านี้แคบมาก การพยายามสร้างอาชีพจากความรักดังกล่าว อาจทำให้คุณเปิดประตูแห่งความผิดหวัง ดังนั้นทางออกของคุณสำหรับเรื่องนี้ คือ การคิดว่ามันเป็นงานอดิเรกที่แสนวิเศษก็น่าจะพอ
คุณมีความสามารถด้านหนึ่ง และมีตลาดขนาดใหญ่รองรับ แบบนี้จะช่วยให้คุณหางานได้ไม่ยาก เช่น คุณมีความสามารถทางด้านบัญชีจนมีความเชี่ยวชาญ คุณย่อมรู้แน่นอนว่า จะมีตำแหน่งงานรายได้งาม ๆ รอคุณอยู่ตรงหน้า แต่ก็นั่นแหล่ะ สิ่งที่ขาดหายจากชีวิตคุณก็คือ ความสุขจากการทำสิ่งที่รัก
และนี่ก็กลายเป็น วิถีชีวิตของมนุษย์เกือบทุกคนบนโลกใบนี้ เราทำงานที่ขายทักษะ (และเวลา) แต่ก็แทบอดใจรอไม่ไหวที่จะกลับบ้านไปทำสิ่งที่ตัวเองรัก ทั้งตั้งตารอว่าเมื่อไหร่จะถึงวันเสาร์อาทิตย์ วันหยุดยาว วันลาพักร้อน หรือเวลาเกษียณเสียที จะได้มาทำในสิ่งที่รัก
ถ้าคุณเป็นแบบที่กล่าวข้างต้น ก็ยังถือว่าโชคดีอยู่นะครับ เพราะสถานการณ์ที่ดูแย่สุดๆ คือ การทำงานที่เราไม่ได้รัก ทักษะก็ไม่มี แถมยังไม่มีตลาดรองรับอีกต่างหาก เปรียบเหมือน คุณพยายามขายหิมะให้กับชาวเอสกิโม ทั้งๆ ที่คุณไม่ชอบหิมะ และยังมีทักษะการขายที่ห่วยสุด ๆ
เล่าจื๊อ เคยให้คำสอนที่ฟังแล้วดูเท่เป็นบ้า ไว้ว่า
“ผู้ที่เข้าใจในศิลปะแห่งการใช้ชีวิตนั้น แทบไม่เคยแยกแยะระหว่างการทำงานกับการเล่นสนุก การลงแรงกับการเริงใจ จิตใจกับร่างกาย การศึกษากับการพักผ่อน ตลอดจนความรักกับศาสนา เขานำมุมมองดังกล่าวมา ใช้กับทุกสิ่งที่เขาทำ แล้วปล่อยให้คนอื่นตัดสินกันเองว่า เขากำลังทำงานหรือเล่นสนุกอยู่กันแน่ แต่สำหรับ ตัวเขาเองแล้ว เขาทำทั้งสองสิ่งควบคู่กันเสมอ”
คุณจึงจำเป็นที่จะต้องมองหาจุดทับซ้อนกันระหว่าง ความรัก ทักษะ และความต้องการของตลาดเพราะถ้าคุณหาเจอ มันคงไม่ใช่เพียงแค่งานในฝันเท่านั้นแต่มันจะช่วยเปลี่ยนชีวิตคุณให้มีความหมายมากขึ้น
ซึ่งสิ่งที่คุณจะต้องใช้นอกจากหัวใจแล้ว ยังต้องใช้เวลา และหลักคิดแบบ Design Thinking ด้วย (ทดลองและปรับเปลี่ยนอยู่ตลอด) ลองไปเริ่มก้าวแรกในการค้นหากันดีกว่าครับ
———————————————————————————————————
สนใจข้อมูลธุรกิจ การเงิน การลงทุน เล่าให้ฟังเข้าใจง่ายๆ พร้อมทั้งแรงบันดาลใจดีๆ ในการสร้างฝัน ติดตาม iYom Biz+Inspiration ได้ที่
website : iyom-bizinspiration.com
facebook : https://www.facebook.com/iYomBizInspiration/