ROE คืออะไร ? บอกอะไรนักลงทุน
หนึ่งในอัตราส่วนสำคัญที่ใช้ในการคัดเลือกหุ้น นั่นคือ อัตราส่วนผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (Return on Equity) หรือที่เรามักได้ยินกันในชื่อย่อที่ว่า ROE นอกเหนือจาก อัตราส่วนราคา/กำไรต่อหุ้น (PE Ratio) ที่ได้เคยอธิบายไปแล้ว (ตามไปอ่านได้ที่ > )
.
ซึ่งอัตราส่วน PE ที่เรารู้จักกัน จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยบอกความถูกความแพงของหุ้น ในขณะที่อัตราส่วน ROE จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยบอกถึงคุณภาพของหุ้น (บริษัท) ตัวนั้นว่า เงินที่บริษัทเก็บเอาไว้ (ทุน+กำไรสะสม) สามารถนำไปลงทุนทำธุรกิจให้งอกเงย ได้อัตราผลตอบแทนคืนกลับมาให้ผู้ถือหุ้นเท่าไหร่
.
ยกตัวอย่างง่าย ๆ ก็เหมือนเรามีเงิน 1,000 เอาเงินไปฝากออมทรัพย์ ได้ดอกเบี้ย 0.25% อีกนัยหนึ่งก็คือ ROE หรือเงิน 1,000 เราจะเอาไปลงทุนหุ้น ได้ผลตอบแทนเฉลี่ย ๆ ราว 10% ก็ถือว่าเป็น ROE เช่นกัน
.
ซึ่งถ้าอธิบายในแง่ของบริษัท (ตามรูป)
.
นักลงทุนสนใจซื้อหุ้นของบริษัท 100 บาท ซึ่งก็คือ การซื้อความเป็นเจ้าของบริษัท (ผู้ถือหุ้น) โดยที่จะระบุไว้ในส่วนของผู้ถือหุ้น หลังจากนั้น บริษัทได้นำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ (เช่น เครื่องจักร, ร้านค้า อุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นต้น) เพื่อใช้ในการทำธุรกิจ สร้างรายได้ ซึ่งรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จะเหลือเป็น กำไรสุทธิ และจะไหลกลับมาให้ผู้ถือหุ้น ในรูปแบบ ROE นั่นเอง
.
หรือสามารถอธิบายได้ว่า เงิน 100 บาทของผู้ถือหุ้น บริษัทสามารถนำไปสร้างผลกำไรกลับมาได้กี่บาท ทำให้เวลาเราดูอัตราส่วนนี้มักจะหา บริษัทที่มี ROE สูงและอย่างสม่ำเสมอไว้ก่อน เพราะสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของธุรกิจที่ดีและสร้างผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นสม่ำเสมอ
.
กับดัก ROE ที่ต้องระวัง
.
ซึ่งจากสูตรคำนวนของ ROE โดยปกติทั่วไป คือ กำไรสุทธิ/ส่วนของผู้ถือหุ้น เพราะฉะนั้น การที่ ROE จะสูงขึ้นได้ย่อมเกิดจาก กำไรที่เพิ่มขึ้น หรือ ส่วนของผู้ถือหุ้นที่น้อยลง แต่จากสูตรดังกล่าวอาจทำให้เราติดกับดักของหุ้นที่มี ROE สูง ๆ ที่อาจจะไม่ได้เกิดจากกำไรที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างแท้จริง
.
เพราะบางที อาจมีบางบริษัทที่ใช้โครงสร้างเงินทุน (ทำให้ตัวส่วนของผู้ถือหุ้นน้อยลง) โดยการใช้หนี้สิ้นเป็นตัวดันให้ ROE สูงขึ้น (Leverage) แทนที่จะเกิดจากกำไรของธุรกิจจริง ๆ จึงทำให้เราต้องแยกส่วนการคำนวนของ ROE ออกมาเป็น 3 ส่วนประกอบสำคัญ (ตามรูป)
.
ROE กับ 3 ส่วนประกอบ
.
ส่วนที่ 1 ความสามารถในการทำกำไรที่สูง
ส่วนที่ 2 ความสามารถในการขาย
ส่วนที่ 3 การใช้ประโยชน์จากหนี้สิน
ซึ่งทั้ง 3 ส่วนดังกล่าวจะมีอัตราส่วนชี้วัดแยกพิจารณา คือ
.
ส่วนที่ 1 ความสามารถในการทำกำไรที่สูง
ใช้ อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) [กำไรสุทธิ/รายได้] บอกถึงประสิทธิภาพการขายและการควบคุมค่าใช้จ่ายเพื่อสร้างกำไรของบริษัท
.
ส่วนที่ 2 ความสามารถในการขาย
ใช้ อัตราการหมุนเวียนของสินทรัพย์ (Assets Turnover) [รายได้/สินทรัพย์] บอกถึงการหมุนของสินทรัพย์เพื่อสร้างรายได้ (สินทรัพย์ 1 บาท สร้างรายได้ x บาท)
.
ส่วนที่ 3 การใช้ประโยชน์จากหนี้สิน
ใช้ ตัวทวีคูณของผู้ถือหุ้น (Equity Multiplier) [สินทรัพย์/ส่วนผู้ถือหุ้น] ขออธิบายขยายความสักนิด ตัวนี้เป็นตัววัดความเสี่ยงจากการระดมทุนจากหนี้สิน ยิ่งมีค่า Equity Multiplier สูง แสดงถึงความเสี่ยงที่มากขึ้น ความเสี่ยงที่มากขึ้นแสดงถึงผลตอบแทนที่คาดหวังจะสูงขึ้นตามไปด้วย (โดยเงินลงทุนในสินทรัพย์ 1 บาทมาจากผู้ถือหุ้นกี่บาท)
หรืออาจคำนวนจาก (1+DE) ก็ได้เช่นกัน
.
โดยเมื่อดูจากโครงสร้างสูตรทั้ง 3 เราจะเห็นความเชื่อมโยงกันดังนี้ คือ
.
ROE
= ทำกำไรได้สูง x ขายของเก่ง x ใช้ประโยชน์จากหนี้สิน
= Net Profit Margin x Asset Turnover x Equity Multiplier
= (กำไรสุทธิ/รายได้) x (รายได้/สินทรัพย์) x (สินทรัพย์/ส่วนผู้ถือหุ้น)
.
สุดท้ายลองตัดตัวแปรทางคณิตศาสตร์ สูตรก็จะเหลือคำนวนมาเป็น
ROE = กำไรสุทธิ / ส่วนของผู้ถือหุ้น นั่นเอง
.
หลายคนถาม แล้วจะแยกทำไมให้ยุ่งยาก
.
อย่างที่บอกไปแล้วว่าการแยกองค์ประกอบของ ROE จะช่วยทำให้เรา เห็นคุณภาพของ ROE ได้ชัดเจนขึ้นว่าแท้จริงแล้ว การที่บริษัทมี ROE เพิ่มขึ้นหรือลดลงเกิดจากการดำเนินงานจุดไหน และที่สำคัญยังสามารถสะท้อนให้เห็นว่า บริษัทมีการใช้ประโยนช์จากการก่อหนี้มาช่วยดันให้ ROE สูงขึ้นหรือไม่ ดังตัวอย่างเช่น
.
บริษัท A และ บริษัท B มีความสามารถทางธุรกิจเท่ากัน ทั้งในเรื่องอัตรากำไรสุทธิที่อยู่ที่ 10% และอัตราการหมุนเวียนของสินทรัพย์ที่ 1 เท่า เหมือนกันทั้งคู่
.
แต่พอคำนวน ROE บริษัท B อยู่ที่ 20% ในขณะที่บริษัท A มี ROE เท่ากับ 10% เท่านั้น เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะ บริษัท B มีการใช้ประโยชน์จากหนี้สิน (Equity Multiplier เท่ากับ 2) จึงเป็นตัวผลักดันให้ ROE สูงกว่า บริษัท A ที่ไม่มีหนี้สิน (Equity Multiplier เท่ากับ 1)
.
การเปรียบเทียบ
.
และต้องอย่าลืมว่า ROE ก็เหมือนอัตราส่วนทางการเงินอื่น ๆ ที่เราต้องดูเปรียบเทียบทั้ง
1. อดีตที่ผ่านมาสัก 3-5 ปี เพื่อดูความสม่ำเสมอและค่อนไปในทางขยับขึ้น
2. เปรียบเทียบกับคู่แข่ง หรือของอุตสาหกรรมเดียวกัน
3. เปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ซึ่งแน่นอนอาจจะมีตัวเลขที่แตกต่างกัน แต่จะช่วยให้คุณเลือกลงทุนและเข้าใจในแต่ละอุตสาหกรรมได้
.
สรุป การดูอัตราส่วนผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE)
.
1. ดูบริษัทที่มีความสามารถในการทำกำไรสูง
2. ROE อยู่ในระดับ 20% และเพิ่มขึ้นในระยะยาว
3. หลีกเลี่ยง ROE ที่ผันผวน
4. ระวัง ROE ที่สูงจากการก่อหนี้เพิ่ม ฉะนั้น ROE ที่สูงและมีคุณภาพ D/E ต้องต่ำด้วย
.
นอกจากนี้เรายังสามารถใช้ ROE พิจารณาควบคู่กับอัตราส่วน PE เพื่อคัดเลือกหุ้นได้ ลองไปดูตัวอย่างศึกษาเพิ่มเติมได้ที่
– วิเคราะห์หุ้นลิสซิ่ง รับหุ้น TIDLOR ด้วยคู่หูอัตราส่วนการเงิน PE และ ROE > https://bit.ly/3y47g38
– เลือกลงทุนหุ้นกลุ่มพัฒนาอสังหา ฯ ด้วยคู่หูอัตราส่วนการเงิน PE และ ROE > https://bit.ly/3y9E6j2
.
หมายเหตุ
.
1. การคำนวน ROE โดยปกติ ถ้าเป็นรายการที่มาจากงบดุล (สินทรัพย์และส่วนของผู้ถือหุ้น) จะใช้ค่าเฉลี่ยสองปีแทน (เช่น ถ้าจะคำนวน ปี 2563 จะใช้สินทรัพย์ของทั้งปี 2563 และ 2562 มาเฉลี่ย)
2. การคัดเลือกหุ้นต้องใช้อัตราส่วนทางการเงินอื่น ๆ ประกอบในการพิจารณาด้วย เช่น PE, PB, อัตราปันผล เป็นต้น อีกทั้งยังต้องคาดการณ์แนวโน้มของธุรกิจนั้นในอนาคตได้ในระดับหนึ่ง
3. ไม่มีอัตราส่วนไหนที่จะตอบโจทย์ในการหาหุ้นที่ดีได้ตลอด ฉะนั้น ควรศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม พร้อมทั้งประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์
.
.
สนใจข้อมูลธุรกิจ การเงิน การลงทุน เล่าให้ฟังเข้าใจง่ายๆ พร้อมทั้งแรงบันดาลใจดีๆ ในการสร้างฝัน ติดตาม iYom Biz+Inspiration ได้ที่
website : https://iyom-bizinspiration.com
facebook : https://www.facebook.com/iYomBizInspiration